Return to Nature Ways to die peacefully

 คืนสู่ธรรมชาติ วิถีสู่การตายอย่างสงบ
คืนสู่ธรรมชาติ วิถีสู่การตายอย่างสงบ
บทเรียนจากการดูแลหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ
จัดทำโดย โครงการจัดการความรู้ สุขภาวะระยะสุดท้าย
สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย
เครือข่ายพุทธิกา
พิมพ์ครั้งที่ ๑ ๒๕๕๘
คำนิยมโดย พระไพศาล วิสาโล

คำนิยม
หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ อาพาธด้วยโรคมะเร็งเมื่อต้นปี ๒๕๕๗    แม้นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่แพทย์ตรวจพบมะเร็งในร่างกายของท่าน  แต่ท่านตระหนักดีว่าอาพาธครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งก่อน และยากที่จะรักษาให้หายได้   เมื่อได้ทราบว่าพัฒนาการของโรคนี้จะส่งผลอย่างไรต่อร่างกายของท่านหากไม่อาจเยียวยาได้   ท่านจึงได้แจ้งเจตจำนงล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ขอให้การรักษาของแพทย์เป็นกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน และให้ท่านมีโอกาสอยู่วัดเป็นหลัก  ในกรณีที่ท่านท่านอาพาธหนักจนไม่อาจตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ท่านไม่อนุญาตให้ยื้อชีวิตของท่าน ไม่ว่าด้วยการผ่าตัดใหญ่  การปั๊มหัวใจ หรือการใช้เครื่องช่วยหายใจหากหายใจด้วยตนเองไม่ได้
ตลอดเวลา ๗ เดือนที่ท่านอาพาธ  หลวงพ่อมอบความไว้วางใจให้แก่คณะแพทย์และผู้ดูแลในการเยียวยารักษาท่าน  โดยพยายามทำตนให้เป็นภาระแก่ผู้อื่นน้อยที่สุด   ใช่แต่เท่านั้นแม้ทุกขเวทนาทางกายจะกำเริบเพียงใด หลวงพ่อก็ยังมีอาการสงบนิ่ง  ราวกับว่าไม่มีความทุกข์ร้อนใด ๆ   ไม่ว่าใครที่มาดูแลท่าน ก็จะพบว่าแค่ดูแลกายของท่านก็เพียงพอแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องดูแลใจของท่าน ดังที่พึงกระทำกับผู้ป่วยทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการเยียวยาแบบประคับประคอง (palliative care)  สิ่งที่ตามมาก็คือ  นอกจากผู้ดูแลจะมีภาระน้อยลงแล้ว ยังได้เรียนรู้ธรรมหลายอย่างจากหลวงพ่อ ไม่ว่า ทุกข์กายแต่ไม่ทุกข์ใจ  หรือ “ไม่เป็นอะไรกับอะไร”
ตลอดชีวิตบรรพชิตของหลวงพ่อ  ท่านได้พากเพียรสอนธรรมแก่ลูกศิษย์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  แม้ในยามอาพาธ ไม่สามารถพูดหรือแสดงธรรมได้อย่างเคย  ท่านก็ยังสอนธรรมให้แก่พวกเราด้วยการทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัสได้  ตลอด ๗ เดือนแห่งการอาพาธของท่านนั้นอุดมไปด้วยบทเรียนที่สามารถเก็บเกี่ยวได้มากมาย   นอกจากบทเรียนทางธรรมแล้ว  บทเรียนอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากก็คือ บทเรียนในการดูแลรักษาผู้ป่วย
แม้ทุกวันนี้ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความก้าวหน้ามาก แต่บ่อยครั้งการเยียวยารักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะที่อยู่ในระยะท้าย กลับนำมาซึ่งความทุกข์ทรมาน ทั้งแก่ผู้ป่วยและญาติ  ไม่นับทรัพยากรมหาศาลที่หมดไป  ทั้งนี้เป็นเพราะทุกฝ่ายมุ่งยื้อชีวิตของผู้ป่วยให้ยืนยาวมากที่สุด  สะท้อนถึงทัศนะที่ปฏิเสธความตาย ทั้ง ๆ ที่ความตายเป็นธรรมดาของมนุษย์   การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายจะก่อความทุกข์ทรมานแก่ทุกฝ่ายน้อยลง และสามารถก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตและจิตใจที่ดีแก่ผู้ป่วยได้ หากทุกฝ่ายยอมรับความตายเป็นเบื้องแรก และพยายามใช้เงื่อนไขที่มีอยู่ในการสร้างความสุขสบายแก่ผู้ป่วยให้มากที่สุด ทั้งทางกายและใจ  ด้วยวิธีนี้การตายอย่างสงบย่อมเป็นไปได้ และสามารถเป็นการตายดีในทางพุทธศาสนาได้ด้วย
การอาพาธของหลวงพ่อคำเขียนไม่เพียงชี้ว่า กายป่วยแต่ใจไม่ป่วยนั้นเป็นไปได้  หากยังบอกเราว่า การธำรงรักษาคุณภาพชีวิตไม่ให้ตกต่ำลงขณะที่เจ็บป่วยจนสิ้นลมอย่างสงบนั้น สามารถทำได้ จริงอยู่กรณีหลวงพ่ออาจถือว่าเป็นกรณีพิเศษเนื่องจากท่านได้ผ่านการฝึกจิตมาอย่างช่ำชองจนมีคุณสมบัติเหนือกว่าคนทั่วไป  แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากก็คือ กระบวนการดูแลรักษาท่าน ซึ่งไม่ได้เน้นการยื้อชีวิต แต่มุ่งดูแลกายของท่านให้สุขสบายเท่าที่จะทำได้  กระบวนการดังกล่าวสามารถใช้ได้กับคนทั่วไป และสามารถช่วยลดความทุกข์ทรมานทั้งทางกายและใจ จนสามารถตายอย่างสงบได้ในท้ายที่สุด
สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย และเครือข่ายพุทธิกา เห็นว่าประสบการณ์การอาพาธของหลวงพ่อคำเขียนนั้นสามารถให้บทเรียนที่ทรงคุณค่าในการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์  จึงได้จัดให้มีการประชุมถอดบทเรียนขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๗ โดยมีคณะแพทย์ พยาบาล และผู้ดูแลทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ รวมทั้งผู้สนับสนุนมาร่วมประชุม  ผลที่ได้คือหนังสือ คืนสู่ธรรมชาติ วิถีสู่การตายอย่างสงบ  เล่มนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจ ไม่ว่าแพทย์ พยาบาล พระภิกษุสงฆ์ รวมทั้งบุคคลทั่วไป ทั้งที่เป็นผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย
ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้ขอบคุณคณะแพทย์ พยาบาล และคณะผู้ดูแลที่ได้ร่วมกันดูแลรักษาหลวงพ่อคำเขียนด้วยความอุตสาหะ รวมทั้งผู้ที่ให้การสนับสนุนทั้งเงินและสิ่งของเพื่อการดูแลรักษาหลวงพ่อ  และขอขอบคุณล่วงหน้าสำหรับผู้ที่นำเอาบทเรียนจากการอาพาธของหลวงพ่อและการดูแลท่านไปก่อประโยชน์ เพื่อลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของเขาเหล่านั้นจวบจนสิ้นลม
พระไพศาล วิสาโล
วันมาฆปุณมี
๔ มีนาคม ๒๕๕๘

Credit : http://www.visalo.org/prefaces/kuenSooDham.html