In Praise of the Lord Buddha, 2535, Acrylic on canvas, 150x300 cm
หากกล่าวถึงวิวัฒนาการทางศิลปะ มนุษย์เริ่มต้นจากการวาดภาพโดยการขีดเขียน เส้นสายบนผนังถ้ำ แล้วค่อยๆเรียนรู้ที่จะเลียนแบบสิ่งที่เห็นในธรรมชาติแล้วพัฒนาทักษะ ให้วาดให้มีความเหมือนจริงที่สุด มีกลวิธีทีซับซ้อนขึ้นสามารถลวงมิติให้มีระยะใกล้ไกล บนระนาบสองมิติ และพัฒนาตัดทอนเพิ่มเติมให้เหลือเพียงความงามในแบบคลาสสิค ซึ่งจะเห็นได้ว่าในอารยธรรมที่กระจายอยู่ในหลายภูมิภาคของโลก เช่น อารยธรรมแบบกรีกโรมัน อารยธรรมขอม กระทั่งอารยธรรมสุโขทัย วิวัฒนาการศิลปะใช้เวลายาวนานในการบ่มเพาะเพื่อสร้างรูปแบบที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ โดยมีความเชื่อเป็นปัจจัยสำคัญ พระพุทธรูปปางลีลาสมัยสุโขทัยเป็นความงามแบบคลาสสิค ที่กลายเป็นต้นแบบ ศิลปกรรมเชิงอุดมคติ(Ideaism) และกลายเป็นศิลปะแนวประเพณีสร้างสรรค์ สืบต่อกันมายาวนานกว่า 1000 ปี ในสมัยรัตนโกสินทร์มีปัจจัยมากมายที่เป็นเหตุให้ศิลปะแนวประเพณีขาดการเหลียวแล ในปี พศ. 2519 ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ได้ก่อตั้งภาควิชาศิลปไทยขึ้น ในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร ในขณะนั้นมีคนเลือกเรียนสาขานี้อยู่เพียง 3 คนเท่านั้น หนึ่งในนั้น คือ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ท่ามการกระแสศิลปะตะวันตกซึ่งเป็นที่นิยมขณะนั้น เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้เป็นผู้นำ ต่อต้านกระแสความนิยมนี้ โดยก่อตั้งกลุ่ม "ศิลปไทย 23" ขึ้นในปี 2523 และอุทิศตัวเอง ทำงานถวายเป็นพุทธบูชาโดย เดินทางร่วมกับศิลปินไทยจำนวนหนึ่งเพื่อไปวาดภาพ จิตรกรรมฝาผนัง ภายในอุโบสถวัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่าง ปี พ.ศ. 2527-2531 ความศรัทธาและความมุ่งมั่นอันแรงกล้าทำให้เกิดผลงาน ศิลปะไทยร่วมสมัย ในรูปลักษณ์จิตรกรรมฝาผนังอันงดงามและวิจิตรตระการตา จนเป็นที่เลื่องลือและคืนชีวิตชีวา ให้กับศิลปไทยอีกครั้ง
ภาพ "สรรเสริญพระพุทธเจ้า" สร้างสรรค์ขึ้นในปี พ.ศ. 2535 หลังจากเดินทางกลับ มาประเทศไทย เริ่มต้นจากบทสนทนาระหว่างศิลปิน และ คุณบุญชัย เบญจรงคุล ที่บ้านของศิลปิน ชายวัยสามสิบต้นๆ ใส่ชุดขาวไว้ผมยาวผู้มีความซาบซึ้งในธรรมะ มุ่งมั่นในการปฏิบัติเจริญภาวนา ได้สนทนากับนักธุรกิจผู้มีสุนทรียภาพและศรัทธา ในพระพุทธศาสนาเฉลิมชัยเล่าถึงความปิติและความสว่างภายในที่เกิดจากการ นั่งสมาธิความอยากรู้ว่าภาพนิมิตและความสุขจากการนั่งสมาธิ นั้นจะสามารถ แสดงออกมาเป็นรูปธรรมอย่างไรจึงเกิดพันธะสัญญาระหว่างเพื่อนทั้งสองร่วมกัน กระทั่งระยะเวลาผ่านไป 1 ปี กับอีก 6 เดือน ภาพนั้นก็ถูกสร้างสรรค์ขึ้น ให้เป็นผลงาน จิตรกรรมขนาดใหญ่ ใช้สีสันงดงามราวดั่งดินแดนสรวงสวรรค์ การเคลื่อนไหวของสภาวะจิตถูกแทนค่าด้วยการเคลื่อนไหวของสายน้ำ บ้างหมุนวน บ้างคดเคี้ยว ล่องลอยอยู่กลางอากาศ ปลาสวรรค์ติดปีกโบยบิน แอบอิงสายน้ำทิพย์ บ้างบิดตัว บ้างกระโดดโลดเต้นตามจังหวะการเคลื่อนไหวของ อารมณ์ความปิติสุขถูกถ่ายเทลงสู่พระพักตร์อันงดงามของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะทรงประทับอยู่บนพระอาสน์ทรงดอกบัวบานด้วยท่าขัดสมาธิ เบื้องบนซ้ายและขวา ปรากฎท้าวจตุโลกบาลและพระอินทร์ ตัวแทนของเหล่าเทวดาน้อมประนมสรรเสริญ เบื้องล่างของภาพหมู่ดอกบัวพ้นน้ำแข่งกันชูก้าน อวดรูปทรงอันสง่างามดั่งการแซ่ซ้องในพระมหากรุณาธิคุณ
ผลงานชิ้นนี้ศิลปินถ่ายทอดให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง ผ่านทางขุนเขาที่สลับซับซ้อน และกรอบรูปทรงคล้ายกรอบหน้าต่างทรงสี่เหลี่ยมทางด้านขวาของภาพเสมือนสิ่งที่สรรพชีวิต ที่จะต้องเผชิญการข้อจำกัดมากมายทางสังคมและสรีระสังขาร แต่ถ้าเป็นผู้มีปัญญาแล้วก็จะ สามารถระงับข้อจำกัดนั้นและนำพาจิตของตนไปสู่หนทางหลุดพ้นได้ ดั่งทิศทางการ สายน้ำในภาพ ความศรัทธาและซาบซึ้งในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถูกแสดงออกมาสู่การ สร้างสรรค์รูปทรงใหม่โทนสีใหม่ ความพริ้วเบาของลวดลาย และรูปทรงเหล่านั้นเป็นความงาม ที่มาจากอารมณ์ภายใน และความตั้งมั่นในศรัทธาอย่างยิ่ง รูปทรงของแมลงเล็กๆที่แฝงตัวอยู่ ตามหมู่บัว ไม่ว่าจะเป็นตั๊กแตน แมลงปอ หรือผึ้ง ถือเป็นภาพสะท้อนความตั้งใจของศิลปิน ที่จะบันทึกความวิจิตรนี้เพื่อมอบเป็นพุทธบูชา และฝากผลงานนี้ไว้เป็น ศิลปะไทยร่วมสมัย (Thai Contemporary Art) ด้วยรูปลักษณ์พุทธศิลป์ (Buddhistic Art) ชิ้นเอกให้คนรุ่นหลังได้เห็น
บทความโดย สุริยา นามวงษ์