How to prepare files for printing

เตรียมไฟล์อย่างไรถึงจะเหมาะกับงานพิมพ์

สำหรับลูกค้าที่ต้องการจะออกแบบงานพิมพ์เอง  แต่ไม่มีประสบการณ์ด้านการออกแบบส่งโรงพิมพ์  ทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. มีข้อแนะนำสำหรับนักออกแบบมือใหม่เล็กน้อยนะครับ  ปัญหาที่โรงพิมพ์พบบ่อยมากที่สุดปัญหาหนึ่งก็คือ  นักออกแบบไม่ได้ออกแบบมาตามมาตรฐานของการออกแบบงานพิมพ์  ไม่ได้เผื่อตัดตก  ไม่ได้ใช้ Resolution หรือ profile สีที่เหมาะสม  ใช้รูปภาพประกอบคุณภาพต่ำเกินไป  ตั้ง size งานไม่ได้ขนาด ไม่ได้แนบฟอนต์หรือรูปภาพ (Links) มากับไฟล์งาน  ใช้โปรแกรมผิดประเภท ฯลฯ  โรงพิมพ์จึงได้สร้าง Template เบื้องต้นสำหรับการออกแบบมาไว้ให้ใช้กันฟรี ๆ ดาวโหลดได้ที่นี่ครับ

คำแนะนำสำหรับการเตรียมไฟล์ให้เหมาะสมกับการพิมพ์  ทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. มีข้อแนะนำดังนี้ครับ
1. นักออกแบบควรจะใช้โปรแกรมออกแบบให้ตรงตามประเภทของงานก่อนตั้งแต่ต้น  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียคุณภาพของงาน  การใช้โปรแกรมผิดประเภท นอกจากจะไม่ได้งานตามที่ควรจะเป็นแล้ว  ยังทำให้เกิดความยุ่งยากเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพิมพ์
  • Photoshop เหมาะสำหรับงานออกแบบทั่วไป โปสเตอร์ โบรชัวร์ ออกแบบหน้าปกหนังสือ  งาน Ads เป็นชิ้น ๆ มีเพียง 1-2 หน้า งานที่เน้นไปที่การทำงานเกี่ยวกับภาพเป็นหลัก  ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอล  หรือภาพที่ได้มาจาก Photostock   เป็นโปรแกรมตั้งต้นสำหรับจัดการกราฟฟิค  เพื่อนำไปใช้กับโปรแกรมอื่น ๆ ไม่เหมาะกับการนำมาออกแบบหนังสือเป็นเล่มโดยตรง ถึงแม้ว่าจะทำได้ก็ตาม
  • Illustrator เหมาะสำหรับงานออกแบบทั่วไป  ไม่ว่าจะเป็น โปสเตอร์ โบรชัวร์ หน้าปกหนังสือ กล่องผลิตภัณฑ์ ฯลฯ  การทำงานส่วนใหญ่จะทำใน Illustrator เป็นหลัก  ทางโรงพิมพ์แนะนำให้ตกแต่งภาพให้เสร็จเรียบร้อยใน Photoshop เสร็จแล้วค่อยนำภาพเข้ามาใช้ (Place) ใน Illustrator อีกทีหนึ่ง 
  • InDesign  เหมาะสำหรับการออกแบบงานหนังสือที่เป็นลักษณะเล่ม ๆ มีหลาย ๆ หน้า  ลักษณะการใช้งานจะเป็นในลักษณะ “จัดหน้าหนังสือ” มากกว่า “ออกแบบกราฟฟิค”  ภาพและกราฟฟิคที่ใช้มักจะตกแต่งแล้วเสร็จมาจาก Photoshop/Illustrator แล้วค่อยนำมาวางใน InDesign เพื่อจัดรูปเล่มหนังสืออีกต่อหนึ่ง
2. กำหนดขนาดของงานให้เรียบร้อยก่อนลงมือทำ Artwork  ลูกค้าบางท่านยังไม่เครียร์ในเรื่องของขนาดงาน  นักออกแบบจะต้องคุยให้รู้เรื่องก่อนออกแบบ  เพราะเมื่อออกแบบไปแล้ว แล้วมาแก้ไขทีหลัง  จะทำให้เสียเวลา สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไปโดยไม่จำเป็น   เช่นกรณีที่ออกแบบมาเป็น A5 แต่ spec จริงเป็น A4  การขยายขนาดจาก 100% เป็น 200% นั้น ทำให้คุณภาพของงานดรอปลงอย่างมากนะครับ  โดยเฉพาะภาพจำพวก JPEG
3. การกำหนดขนาดงาน  “จะต้องบวกพื้นที่การทำงานออกไปเสมอ“  เพื่อเผื่อตัดตก  ตัดตก คือการออกแบบงานให้เลยยื่นออกนอกเนื้อที่งาน  เพื่อที่จะได้ไม่เกิดขอบขาว เวลาโรงพิมพ์เจียนงานทิ้ง  สิ่งนี้จำเป็นมาก ๆ นะครับ และนักออกแบบส่วนใหญ่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานกับโรงพิมพ์มาก่อนจะไม่รู้  งานที่ไม่ได้เผื่อตัดตก  บางครั้งจะทำให้มีขอบขาว ๆ เกิดขึ้นเวลาพิมพ์งานจริง  โดยปกติแล้วทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. จะแจ้งลูกค้าก่อนว่างานที่ทำมาไม่ได้เผื่อตัดตกไว้  โรงพิมพ์จะแก้โดยการขยายงานออกไปข้างละ 3mm (หรือประมาณ 1/8 นิ้ว) ทำให้ Artwork ที่ลูกค้าทำมานั้น ใหญ่เกินจริงไปราว ๆ 2%
4. ขั้นตอนการทำงานขั้นถัดไป  แยกตามโปรแกรมที่ใช้งานเลยครับ

 ตัวอย่างการตั้งค่าหน้ากระดาษสำหรับการออกแบบโบรชัวร์ด้วย Photoshop
การเปิดงานใหม่ขึ้นมาทำใน Photoshop
1. เลือกขนาดงานที่ต้องการเช่น A4 (ส่วนใหญ่งานที่ผลิตในไทย  จะใช้ Standard ของ International Paper)
2. ให้เผื่อขนาดตัดตกออกไปทุกด้าน (บน ล่าง ซ้าย ขวา) ด้านละ 3 mm
3. Resolution ที่ใช้  เป็น 300 Pixel/inch ไม่จำเป็นต้องมากไปกว่านี้  และไม่ควรน้อยไปกว่านี้ Resolution ที่มากเกินไปไม่ได้ทำให้ความคมชัดของงานพิมพ์เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
4. สำหรับงานที่ส่งโรงพิมพ์แล้ว  จะต้องใช้โหมดสีเป็น CMYK เสมอ
เมื่อเริ่มทำงานแล้ว  ให้ตั้ง guide ให้กับ wordspace ดังนี้
การตั้ง Guide งานให้กับ Photoshop
ไกด์งานที่เห็นในภาพ  เป็นไกด์งานขนาด A4 ที่เผื่อขอบออกไปด้านละ 3mm อยู่แล้ว  ส่วนที่ยื่นออกไปนอกไกด์จะถูกเจียนทิ้งทั้งหมด  แต่ไม่มีไม่ได้  ฉะนั้น นักออกแบบควรจะพิจารณาให้ดีว่า  จะวาง Layout อย่างไรให้มีตำแหน่งที่เหมาะสม
5. ทางโรงพิมพ์พบปัญหาเรื่อง Font บ่อยมาก ทำให้ต้องเสียเวลาติดต่อนักออกแบบหลายรอบ  ดังนั้นหากมีการใช้ Font พิเศษ  ให้นักออกแบบ Rasterize ฟอนต์มาด้วยนะครับ (Click ขวาที่ Text Layer นั้น ๆ แล้วเลือก Rasterize Type) การ Rasterize จะแปลง Text Layer นั้นให้กลายเป็นภาพกราฟฟิค  จึงไม่สามารถแก้ไขข้อความต่อไปได้  การ Rasterize จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด  แต่ในขณะเดียวกัน  วิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวกที่สุดครับ
6. เมื่อออกแบบเสร็จแล้ว  ให้เซฟเป็นไฟล์ PSD ส่งโรงพิมพ์ได้เลยครับ


คล้าย ๆ กันกับ Photoshop นะครับ  แต่ Illustrator มี feature ที่เพิ่มขึ้นมานิดหน่อยครับ
การตั้งค่างานให้กับ Illustrator
1. เลือกขนาดงานที่ต้องการออกแบบ
2. ให้ set ขนาดตัดตก ทุกด้าน ด้านละ 3mm (สำหรับ Illustrator ให้ตั้งที่ Bleed ทุกด้าน ๆ ละ 3mm ตามรูปครับ)
3. ส่วนที่ 3 นี้  ไม่ต้องเซตอะไร  เพราะเป็นค่าเริ่มต้นสำหรับ Illustrator อยู่แล้ว  แต่ให้เช็คเพื่อความแน่ใจว่า  ค่าที่ได้  ได้เหมือนดังภาพเป็นอย่างน้อยครับ
หน้าตาของ Workspace ที่ได้ก็จะประมาณนี้ครับ

เมื่อมองจากภาพขยาย  กรอบสีดำด้านในที่เห็นอยู่ก็คือกรอบขนาดไซส์งานจริงที่เราเลือกไว้  ในที่นี้คือขนาด A4 ครับ  ส่วนเส้นกรอบสีแดงด้านนอกคือ เส้น Bleed หรือ เส้นแสดงของเขตตัดตกนั่นเอง  บริเวณที่อยู่เลยขอบสีดำออกมานั้นจะถูกเจียนทิ้งทั้งหมดเวลาผลิตงานพิมพ์ ครับ

สำหรับ Adobe InDesign ทางเราแนะนำเพิ่มเติมในส่วนของการ Export ไฟล์เป็น PDF มาด้วยนะครับ  เพราะหลายครั้งพบว่า  ลูกค้าของโรงพิมพ์สร้าง Package ไม่เป็น  ทำให้การส่งไฟล์ PDF ให้กับโรงพิมพ์จะผิดพลาดน้อยลง

1. เริ่มจากการสร้าง Document ใหม่นะครับ  ให้นักออกแบบเลือกขนาดงานสำเร็จที่ต้องการได้เลย  เช่นหากต้องการพิมพ์หนังสือขนาด A4 ก็ให้เลือก Page Size เป็น A4 ได้เลย  หน่วยที่แสดงในรูปจะเป็น Pica ซึ่ง 1 Pica จะยาวประมาณ 4.233 mm หรือ 0.166 นิ้ว  (1 Pica = 12 Point) แต่ถ้านักออกแบบท่านไหนถนัดหน่วยอื่น  ก็สามารถไปเปลี่ยนได้ในภายหลังครับ  ต่อมาคือจำนวน Column ถ้าเป็นหน้าเดี่ยว ๆ ก็ปล่อยไว้เฉย ๆ ไม่ต้องไปเปลี่ยนก็ได้ครับ  แต่ในที่นี้  ผมกะลังจะออกแบบงานที่มี 2 column เลยต้องเซ็ตเป็น 2 ส่วน Gutter คือระยะห่างระหว่างคอลัมน์ครับ
ลงมาที่ Margin เป็น Guide ภายในหน้าหนังสือ   เอาไว้สำหรับวาง text ตัวหนังสือครับ  Margin 3 Pica เป็นค่า standard สำหรับหนังสือทั่ว ๆ ไป ที่นิยมใช้ครับ  ต่อมาคือส่วนที่สำคัญที่สุดที่จะพูดถึง  คือเรื่องของ Bleed ครับ  (Slug ไม่ต้องสนใจนะครับ  Slug คือพื้นที่ที่เลย Bleed ออกไปอีก  มีไว้สำหรับคนของโรงพิมพ์ใส่ข้อมูลที่จำเป็นในการพิมพ์ครับ เช่น ไกด์สี ฯลฯ นักออกแบบไม่จำเป็นต้องใช้ในส่วนนี้ครับ)  Bleed ที่ปกติทางโรงพิมพ์ทั่วไปนิยมใช้กันคือ 3 mm (หรือประมาณ 1/8 นิ้ว) เท่านั้น  ไม่จำเป็นต้องน้อยไปกว่านี้

2. พอสร้าง document ใหม่เสร็จ  เราจะเห็น Workspace ของเรามีเส้นอยู่ 3 เส้นหลัก ๆ ครับ
  • เส้นตรงกลาง สีดำ : คือเส้นขอบเขตงาน  ในที่นี้จะมีขนาด = กระดาษ A4 ตามที่เราเซตไว้ตั้งแต่ต้นครับ
  • เส้นนอกสุด สีแดง : คือเส้น Bleed จะบวกจากเส้นสีดำออกไป 3mm ครับ
  • เส้นในสุด สีม่วง : คือเส้น Margin ห่างจากเส้นขอบเขตงาน 3 Pica หรือ 36 Point หรือตามที่เซ็ตไว้ครับ
ในส่วนของการออกแบบ  นักออกแบบจะต้องวางงานให้จรดเส้น Bleed พอดีทุกครั้ง ทุกด้าน  กราฟฟิคที่ยื่นเกินเส้นขอบเขตงาน (สีดำ) ออกไปจะถูกตัดทิ้งทั้งหมดนะครับ   ตัวหนังสือที่ไม่ใช่ graphic แต่เป็น ตัวหนังสือจำพวก text เอาไว้ให้คนอ่าน ควรจะอยู่ภายในเส้น Margin ครับ  เรียกว่าอยู่ในระยะ Safety Area คือ บางครั้งเวลาเจียนงาน  อาจจะมีบ้างที่เหลื่อมไปเหลื่อมมา  ถ้าตัวหนังสืออยู่นอก Margin จะทำให้มองดูไม่สมดุล  ไม่สวยงามครับ  อาจจะเกินออกไปได้นิดหน่อย  แต่ไม่ควรยื่นล้ำออกไปมาก

3. พอออกแบบงานเสร็จแล้ว  ก็มาถึงขั้นตอนการ Export เป็น PDF ครับ  ทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. แนะนำให้ลูกค้าเลือก Profile ดังนี้ครับ
  • Preset : High Quality Print
  • Standard : PDF/X-4   (หาอ่านเพิ่มเติมได้จาก section บทความนะครับว่า  ทำไมต้อง PDF/X-4  และ มันต่างจากเวอร์ชั่นอื่น ๆ อย่างไร)
  • เสร็จแล้วให้เลือกที่ Tab “Marks and Bleeds” แล้วติ๊กถูกที่ “Crop Marks” และ “Bleed Marks” ครับ  ขั้นตอนนี้จะเป็นการใส่ Bleed Mark + Crop Mark ลงไปใน PDF ไฟล์ด้วย  เวลาโรงพิมพ์ทำงาน  จะได้ตัดสินใจได้แม่นยำว่า  จุดไหนคือขอบเขตของงานกันแน่
  • Bleed and Slug ให้ติ๊กถูกที่ “Use Document Bleed Settings” ด้วยครับ  เป็นการบอกว่า  ให้เราใช้ Bleed ตามที่เราได้เลือกไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มเปิดไฟล์งานเลยครับ  ไม่จำเป็นต้องไปเซ็ตใหม่
เสร็จแล้ว  ก็ export ออกมาเป็น PDF ได้เลยครับ

4. ถ้านักออกแบบเปิดไฟล์ PDF ที่ถูก export ออกมา  ก็จะพบ Trim Mark (Crop Mark) และ Bleed Mark ตามรูปด้านบนนี้ครับ
5. ขั้นตอนสุดท้าย  ก็คือ  ตรวจทานไฟล์งานอีกรอบอย่างละเอียดทั้ง หมด  ทั้งในเรื่องของการจัดหน้า  การวาง layout เรื่องของสี, graphic, รูปภาพ  และหากไม่แน่ใจในเรื่องของการพิสูจน์อักษร  โรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. แนะนำว่า  ให้ print งานออกมาตรวจทานอีกรอบก่อนนะครับ  เพราะว่าทางโรงพิมพ์จะยึดเอาไฟล์ PDF ที่ลูกค้า approve แล้วส่งมา  เป็นหลักยึดในการทำงานครับ
โรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. หวังว่า  บทความชิ้นนี้จะช่วยให้นักออกแบบเข้าใจกระบวนการออกแบบงานพิมพ์เพื่อส่งโรงพิมพ์มากขึ้นนะครับ

Credit by http://www.wacharinprint.com/home/?p=253

Comments